ประวัติกองอาสารักษาดินแดน

      

      ความเป็นมาของกองอาสารักษาดินแดน

                สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีแนวคิดในการจัดตั้งหน่วยพลเรือนอาสา โดยได้ออกพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ พ.ศ. ๒๔๘๑  และพระราชบัญญัติให้อำนาจในการเตรียมการป้องกันประเทศ พ.ศ. ๒๔๘๔  เพื่อให้การฝึกอบรมคนไทยให้รู้จักหน้าที่ในการป้องกันรักษาประเทศชาติในยามศึกสงคราม โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ

               ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๗  ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗  ในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นผลให้เกิดกิจการด้านพลเรือนอาสา มีรูปแบบและระบบการจัดการที่ชัดเจนมากขึ้น จึงถือเอาวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์  เป็นวันคล้ายวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดน

        พัฒนาการของกองอาสารักษาดินแดน

                         สามารถแบ่งได้เป็น ๓ ระยะ ได้แก่

             ๑.  ระยะก่อน พ.ศ. ๒๔๕๔

                     สมัยโบราณเมื่อเกิดภาวะสงคราม จะมีราษฎรที่ไม่ใช่ทหารรวมตัวกันต่อสู้กับข้าศึกเพื่อรักษาแผ่นดิน อาทิ

                         ๑.๑  สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ศึกบางระจัน ชาวบ้านบางระจันที่ไม่ใช่ทหาร
พยายามต่อสู้กับพม่าจนสิ้นกำลัง ประมาณ พ.ศ. ๒๓๐๘-๒๓๐๙

                         ๑.๒  สมัยการสู้รบที่เมืองถลาง คุณหญิงจันและนางมุก (ท้าวเทพกษัตรี และท้าวศรีสุนทร)

                         ๑.๓  สมัยกู้อิสรภาพเมืองนครราชสีมา โดยการนำของคุณหญิงโม (ท้าวสุรนารี)

                         ๑.๔  สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนากองเสือป่าขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๕๔ เป็นกองพลอาสาสมัครเพื่ออบรมข้าราชการและประชาชนให้รู้จักรักชาติ รู้จักหน้าที่ในการป้องกันรักษาประเทศชาติ

              ๒.  ระยะตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ - ๒๔๙๗

                         มีความพยายามที่จัดตั้งหน่วยพลเรือนอาสาขึ้นให้เป็นระบบ ทั้งในยามปกติและสงคราม มีการนำแนวคิดจากต่างประเทศมาใช้หลังจากมีการจัดตั้งกองเสือป่าขึ้น สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายก รัฐมนตรี ได้มีพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ พ.ศ. ๒๔๘๑ และพระราชบัญญัติให้อำนาจในการเตรียมการป้องกันประเทศ พ.ศ. ๒๔๘๔ ขึ้น เพื่อฝึกอบรมคนไทยให้รู้จักหน้าที่ในการที่จะป้องกันรักษาประเทศชาติในเวลาสงคราม โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการ

               ๓.  ระยะตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ - ปัจจุบัน

                          มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ ทำให้การดำเนินการด้านพลเรือนอาสา มีรูปแบบและระบบที่ชัดเจน ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน

      การจัดหน่วยและการบังคับบัญชา

                กองอาสารักษาดินแดน แบ่งการจัดหน่วยออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค

          ส่วนกลาง  ได้แก่

                 กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการ
          ส่วนภูมิภาค ได้แก่

                กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บังคับการ และมีนายอำเภอ เป็นผู้บังคับกองร้อย

      สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน

              สมาชิก อส. มี ๓ ประเภท  คือ

                   ๑. ประเภทสำรอง 

                              คือ สมาชิกที่ยังไม่ได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กำหนด

                   ๒. ประเภทประจำกอง

                             คือ สมาชิกที่ได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตร และบรรจุอยู่ในอัตรากำลัง

                  ๓. ประเภทกองหนุน

                            คือ สมาชิกที่ได้ปลดออกจากประจำกอง

       ชั้นยศ

                  ชั้นยศของอาสารักษาดินแดน เป็นชั้นยศที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ  แบ่งออกเป็นชั้นยศของผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน และชั้นยศของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน

          ชั้นยศของผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่  ( ชั้นสัญญาบัตร )

                  ชั้นยศของผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน แบ่งออกเป็น ๗ ชั้นยศ ได้แก่

                         ๑.  นายกองใหญ่

                         ๒.  นายกองเอก

                         ๓.  นายกองโท

                         ๔.  นายกองตรี

                         ๕.  นายหมวดเอก

                         ๖.  นายหมวดโท

                         ๗.  นายหมวดตรี


       ชั้นยศของสมาชิก ( ชั้นประทวน ) 

                ชั้นยศของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน แบ่งออกเป็น ๔ ชั้นยศ ได้แก่

                         ๑.  นายหมู่ใหญ่

                         ๒.  นายหมู่เอก

                         ๓.  นายหมู่โท

                         ๔.  นายหมู่ตรี

        สำหรับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ไม่มียศ

                 ได้กำหนดชั้นยศไว้ ๔ ชั้นยศ ได้แก่

                          ๑.   สมาชิกเอก

                          ๒.  สมาชิกโท

                          ๓.  สมาชิกตรี

                          ๔.  สมาชิก

         บทบาทหน้าที่

                   พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้กำหนดบทบาทภารกิจของสมาชิก กองอาสารักษาดินแดน ไว้  ๖ ประการ คือ

              ๑.  บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของข้าศึก

              ๒.  ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

              ๓.  รักษาสถานที่สำคัญและ การคมนาคม

              ๔.  ป้องกันการจารกรรม สดับตรับฟังและรายงานข่าว

              ๕.  ทำความช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการและตัดทอนกำลังข้าศึก

              ๖.  เป็นกำลังสำรองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็น ภารกิจในปัจจุบันที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย นอกจากนั้นแล้ว สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ยังมีบทบาทหน้าที่ในด้านต่างๆ อีกมากมาย อาทิเช่น

                        ๖.๑  ด้านการบริการประชาชน

                        ๖.๒  การรักษาความสงบเรียบร้อย

                        ๖.๓  การป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด

                        ๖.๔  การจัดระเบียบสังคม

                        ๖.๕  การป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน

                        ๖.๖  การส่งเสริมการท่องเที่ยว

เป็นต้น